บทที่14 ปัจจัยที่กระทบต่อการพัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร

บทที่14 ปัจจัยที่กระทบต่อการพัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร

 

สถาปัตยกรรมที่เน้นบริการและซอฟต์แวร์บริการ สถาปัตยกรรมที่เน้นบริการหรือเอสโอเอ (Service-oriented Architecture – SOA)  คือสถาปัตยกรรมทางด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้การพัฒนาระบบและการเชื่อมต่อได้อย่างยืดหยุ่น เป็นการเชื่อมต่อแบบหลวมๆ

โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในแบบบริการหรือเซอร์วิส (services) เพื่อให้โปรแกรมจากต่างแหล่งสามารถทำงานร่วมกันได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคอมไพล์ (compile) เหมือนสมัยก่อน ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างอิสระแต่ยังคงความสามารถให้การทำงานร่วมกันได้

ซอฟต์แวร์บริการหรือแซส (Software-as-a-service – Saas) เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ปฏิวัติแนวคิดในการส่งมอบซอฟต์แวร์ จากเดิมที่เป็นการขายลิขสิทธิ์ (license) ในการใช้งาน แล้วตามด้วยการบริการต่างๆ เช่น การติดตั้ง การให้การช่วยเหลือ (support) และการอัพเกรด เป็นต้น มาเป็นการขายบริการที่มีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการบริการ ซึ่งจะรวมเอาซอฟต์แวร์และการอัพเกรดและการบริการอื่นๆ เข้าไว้ในข้อเสนอการบริการนั้น ผู้ซื้อจึงไม่มีการซื้อซอฟต์แวร์ไปเป็นสินทรัพย์ แต่จ่ายออกในรูปแบบของค่าใช้จ่าย

2. คลาวด์คอมพิวติ้งกับการวางแผนทรัพยากรองค์กรยุคหน้า

คลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) เป็นการประยุกต์หลักการของเอสโอเอ โดยมีแนวคิดที่จะนำเอาระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และทรัพยากรทั้งหมด ไปไว้อยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จนกว่าจะมีผู้ใช้เรียกใช้ (ภาพที่ 7.49) มีผู้นิยามคลาวด์คอมพิวติ้งที่แตกต่างกันไป ตามมุมมองจากหลากหลายอาชีพ แต่โดยรวมแล้วคลาวด์คอมพิวติ้งจะเป็นการรวมทรัพยากรต่างๆ ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และอยู่บนเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ตก็ตาม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา นิยามนี้จะดูคล้ายกริดคอมพิวติ้ง (grid computing) แต่แตกต่างกันตรงที่กริดคอมพิวติ้งจะเน้นไปที่การรวมทรัพยากร แต่ไม่เน้นการจัดการด้านการกระจายทรัพยากร จึงไม่เป็นลักษณะของธุรกิจได้

คลาวด์คอมพิวติ้ง สามารถแบ่งได้ 3 ระดับคือ โครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และแอพพลิเคชั่น (ภาพที่ 7.50) เมื่อนำแนวคิดแซสมาผนวกกับรูปแบบของคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยการทำให้โครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และแอพพลิเคชั่น กลายเป็นเซอร์วิส และเรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานบริการ (Infrastructure-as-a-Services – IaaS) แพลตฟอร์มบริการ (Platform-as-a-Services – PaaS) และแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์บริการ (Application-Software-as-a-Services (SaaS) โดยผู้ใช้สามารถที่จะเข้าถึงบริการต่างๆ ในระดับต่างๆ ตามสิทธิ์ที่ได้รับจากระบบ

นักเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ต่อไปแกนกลางของระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจะอยู่บนคลาวด์ ในกรณีของการวางแผนทรัพยากรองค์กร ก็มีแนวโน้มที่การวางแผนทรัพยากรองค์กรจะอยู่ในรูปของแพลตฟอร์มบริการ (PaaS) โดยเป็นโครงข่ายหลัก (back bone) และโครงสร้างหลักขององค์กรในการดำเนินธุรกรรม โดยทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นส่วนอื่นๆ ที่เป็นแบบเฉพาะอุตสาหกรรม (industry-specific) ตั้งแต่อยู่บนคลาวด์ ผู้ใช้การวางแผนทรัพยากรองค์กรจะสามารถเรียกใช้เสิร์ชเอนจิน (search engine) ได้ สามารถเอาระบบสั่งซื้อสินค้าของเว็บไซต์อะเมซอน (amazon) มาฝังไว้ในโปรแกรมการวางแผนทรัพยากรองค์กรได้ นำเอาจีเมล (gmail) มาประกอบในการวางแผนทรัพยากรองค์กรได้ โดยการเชื่อมโยงกันระดับเซิร์ฟเวอร์บนอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้งระบบใดๆ ที่สำนักงาน แต่อาจจะต้องติดตั้งโปรแกรมฝั่งลูกข่าย (client) ที่ทำการสื่อสารกับผู้ให้บริการ (service provider) หรืออาจจะทำงานผ่านเว็บเบราเซอร์ทั้งระบบเลยก็ได้

3. การวางแผนทรัพยากรองค์กรในรูปแบบแซส

ถึงแม้ว่าจำนวนการใช้งานการวางแผนทรัพยากรองค์กรในรูปแบบแซสจะยังถือว่าน้อยมาก แต่ก็ถือว่ามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ส่วนมากจะใช้เฉพาะบางระบบ เช่น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น แต่ก็เริ่มที่จะมีการนำเสนอเอาการวางแผนทรัพยากรองค์กรที่เป็นโอเพ่นซอร์ส (open source) ทั้งระบบมาทำการขายในรูปแบบแซสเช่นกัน กลุ่มผู้พัฒนาแซสเฉพาะส่วนนี้ มักจะเสนอระบบฝากข้อมูลไว้ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพี (Internet Service Provider – ISP) หรือผู้ให้บริการโฮสติ้ง (hosting) และเสนอการติดตั้งแบบตามความต้องการ (on-demand) คือจ่ายเงินเฉพาะโมดูลที่ใช้งานเท่านั้น

อุปสรรคสำคัญคือ เรื่องความลับทางการค้าและความไม่สบายใจของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ระบบไปฝากไว้กับบุคคลภายนอก ซึ่งผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศมองว่าหากเกิดปัญหา ก็จะไม่สามารถเข้าไปจัดการได้เต็มที่ ส่วนผู้บริหารและเจ้าของกิจการก็กังวลถึงการรั่วไหลของข้อมูลทางการเงินและการค้า จากการสำรวจในปีค.ศ. 2007 หรือ พ.ศ. 2550 โดย CIO Magazine พบว่า มีผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศร้อยละ 54 ที่ตอบว่า คงจะใช้ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรในรูปแบบที่เป็นอยู่คือ ติดตั้งระบบไว้ที่สำนักงานขององค์กรมากกว่าจะใช้แนวทางอื่น เช่น โอเพ่นซอร์ส แซส หรือแบบแอพพลิเคชั่นในองค์กร (in-house application) มีเพียงร้อยละ 9 ที่ตอบว่า จะใช้โอเพ่นซอร์ส แซส หรือเขียนเอง และมีร้อยละ 35 ที่ตอบว่าอาจจะทดลองใช้อะไรที่แตกต่างจากเดิม แต่ก็ยังไม่เคยได้ทดลองจริงๆ จากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้ที่เป็นรุ่นบุกเบิกในการใช้แซสคือ กิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนกิจการขนาดใหญ่ส่วนมากได้ลงทุนระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร แบบซื้อลิขสิทธิ์ (license) ไปแล้ว จะมีการใช้งานแบบแซสอยู่บ้างในระบบงานย่อยบางส่วน

 

บรรณานุกรม

สมควร วานิชสัมพันธ์, ชุดวิชา 99701 ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และการประยุกต์ หน่วยที่ 7 
การวางแผนทรัพยากรองค์กร: มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช