บทที่3 Enterprise resource Planning – ERP
สังคมโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างเต็มตัวทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและสอดแทรกในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเกือบทั้งโลก
ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในทุกๆ ด้าน จนอาจกล่าวได้ว่า องค์กรธุรกิจจะไม่สามารถดำเนินไปได้ หากไม่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ (business process) โดยเฉพาะองค์กรที่ก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) นั้น เทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นขององค์กรที่ขาดไม่ได้
ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning – ERP) จะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมของธุรกิจอิเลกทรอนิกส์ โดยทำหน้าที่เป็นระบบส่วนกลาง ควบคุมการปฏิบัติการ ทางด้านการเงิน การบัญชี การบริหารงานทรัพยากรบุคคล การกระจายสินค้า การผลิต การจัดซื้อและการจัดส่ง โดยมีลูกค้าและพนักงานเป็นศูนย์กลาง และยังทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการต่อเชื่อมระบบงานอื่นๆ ทั้งหมดขององค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว ได้แก่ระบบจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) การจัดการความรู้ (Knowledge Management) และการบริหารคู่ค้าสัมพันธ์ (Partner Relationship Management) ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรจึงเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงและผู้ปฏิบัติงานสามารถดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันสถานการณ์
การวางแผนทรัพยากรองค์กร เป็นระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีรากฐานมาจากภาคปฏิบัติ เป็นนวัตกรรมที่บูรณาการองค์ความรู้จากความสำเร็จจากการปฏิบัติขององค์กร (business practice) ต่างๆ ผสมผสานกับทฤษฎีทางวิชาการ (academic theory) ทางด้านการบริหาร บนสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นสากล กฎระเบียบของภาครัฐ และกระแสการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกการค้าเสรีและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผู้พัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร จึงอยู่บนโลกแห่งการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ การวางแผนทรัพยากรองค์กรจึงเป็นระบบที่ไม่หยุดนิ่ง ขอบเขตของระบบ (system boundary) การวางแผนทรัพยากรองค์กรจึงไม่ชัดเจน ทำให้ความเข้าใจบทบาทและประโยชน์ของการวางแผนทรัพยากรองค์กร สับสน คลุมเครือ และจำกัดอยู่ในวงแคบ ในยุคที่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์กำลังขยายตัว การทำความเข้าใจองค์ประกอบของระบบ ขอบเขตการทำงาน จะช่วยให้เข้าใจบทบาทของการวางแผนทรัพยากรองค์กรในสถาปัตยกรรมของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้ผู้บริหารองค์กรสามารถวางยุทธศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กรเป็นไปอย่างคุ้มค่าและประสบความสำเร็จ
เนื่องจาก การพัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรนั้นอยู่บนพื้นฐานของภาคปฏิบัติ ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาของการวางแผนทรัพยากรองค์กรจึงขึ้นกับทิศทางของสิ่งแวดล้อมของธุรกิจเป็นหลัก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎระเบียบ และเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ การวางยุทธศาสตร์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการนำการวางแผนทรัพยากรองค์กรมาใช้ จึงขึ้นกับทิศทางที่องค์กรกำลังก้าวไปในสิ่งแวดล้อมของธุรกิจนั้นๆ รวมทั้งการประเมินผลตอบแทนการลงทุนของการนำการวางแผนทรัพยากรองค์กรมาใช้ ก็ขึ้นกับยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของผู้บริหารมากกว่าผลประกอบการในระยะสั้นขององค์กร
องค์ประกอบของการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้นั้น มิใช่มีแต่เพียงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ บุคลากร ในองค์กรซึ่งถือว่าเป็นกุญแจที่มีผลสูงสุดต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการนำการวางแผนทรัพยากรองค์กรมาใช้ และบุคคลที่สำคัญที่สุดในการวางยุทธศาสตร์ของโครงการที่จะนำระบบที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งองค์กรทุกส่วน ย่อมหนีไม่พ้นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเท่านั้น ภาวะผู้นำของผู้บริหาร ความเข้าใจความต้องการของพนักงาน และการทำงานเป็นทีม จะช่วยให้แผนการนำการวางแผนทรัพยากรองค์กรมาใช้ประสบความสำเร็จโดยง่าย ดังปรากฏอยู่โดยทั่วไปว่า โครงการติดตั้งระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรที่มีผู้บริหารสูงสุดเข้าร่วมนั้น จะมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าโครงการที่ปราศจากการเข้าร่วมของผู้บริหารสูงสุดอย่างมาก การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น ผู้บริหารจึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการนำการวางแผนทรัพยากรองค์กรมาใช้
บรรณานุกรม สมควร วานิชสัมพันธ์, ชุดวิชา 99701 ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และการประยุกต์ หน่วยที่ 7 การวางแผนทรัพยากรองค์กร: มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช