M-Commerce การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ

M-Commerce การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า E-Commerce กันอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่คุ้นกับคำว่า M-Commerce แต่สำหรับบางท่าน ก็อาจจะคุ้นกับคำนี้แล้ว และใช้งานเป็นอย่างดีก็มีไม่น้อย ในวันนี้จะขอเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับ M-Commerce ที่ใช้งานอยู่จริง ในหลายบริษัทในเมืองไทยด้วยซอฟท์แวร์ ERP ที่พัฒนาโดยคนไทย

M-Commerce มาจาก Mobile-Commerce ก็คือ การทำธุรกรรรมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีข้อได้เปรียบมากกว่า
E-Commerce หลายอย่าง เช่น

1. Mobility ตรงนี้คงยอมรับกันได้ว่า มีมากกว่า E-Commerce เพราะเราสามารถนำโทรศัพท์มือถือไปยังที่ต่างๆ ได้สะดวกกว่าการต้องพกพา เครื่องคอมพิวเตอร์ แม้ว่าจะเป็น Notebook ที่นับวันจะมีขนาดเล็ก บาง น้ำหนักเบามากขึ้นแล้วก็ตาม

2. Reachability สามารถเข้าถึงได้ง่าย เรียกได้ว่า สมัยนี้ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือกันได้ไม่ยากนัก

3. Ubiquity ปัจจุบันเราใช้งานโทรศัพท์มือถือกันแพร่หลายมาก และใช้งานกันกว้างขวาง ไม่ได้ใช้เฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจเหมือนในอดีต แต่ไปถึงแม่บ้าน นักศึกษา วัยรุ่น ฯลฯ

4. Convenience ด้วยขนาดที่พกพาได้ง่าย ทำให้เกิดความสะดวกในการนำไปใช้ และใช้งานได้ไม่ยาก เพียงกดปุ่มไม่กี่ปุ่ม ถ้าเทียบกับการใช้คอมพิวเตอร์ แล้วฟังก์ชันที่ทำงานบนมือถือจะสนองตอบการใช้งานที่ง่าย และใช้เวลาน้อยกว่า

ดังนั้นหลายธุรกิจได้นำประโยชน์ตรงนี้มาใช้ โดยใช้ซอฟท์แวร์ ERP ที่เป็นซอฟท์แวร์ในการบริหารทรัพยากรขององค์การ มาร่วมกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เช่น พนักงานขายที่ต้องออกไปเยี่ยมลูกค้าตามที่ต่างๆ หรือในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพนักงานขายสามารถ เช็คยอดสต๊อคสินค้าจากสำนักงานใหญ่ได้โดยผ่านโทรศัพท์มือถือของตน โดยที่ตัวเองกำลังพูดคุยอยู่ที่บริษัทของลูกค้าได้ทันที แทนที่จะต้องโทรไปถามที่สำนักงานใหญ่ แล้วรอให้พนักงานสต๊อค หรือพนักงานออกบิลช่วยเช็คยอดจากระบบให้ หรือถ้าเป็นเวลาเลิกงานแล้ว ก็อาจไม่มีคนอยู่ในบริษัทแล้ว ถ้าไม่มีระบบนี้ ก็คงต้องรอวันรุ่งขึ้น จึงจะได้ข้อมูลที่ต้องการได้ แต่ถ้าซอฟท์แวร์ ERP ที่ใช้งานมีความสามารถ หรือมี module ที่รองรับ M-Commerce นี้ได้ ก็จะเกิดความสะดวก รวดเร็วอย่างมาก

นอกจาการเช็คสต๊อคสินค้าแล้ว เมื่อพนักงานขายจะส่ง order ของลูกค้าเข้าไปยังบริษัทฯ ก็สามารถส่งผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันที ทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน ในด้านต่างๆ เช่น ฝ่ายจัดซื้อก็ทราบยอดสินค้าที่จะสั่งและทำการสั่งซื้อสินค้ามาไว้ในสต๊อคได้เร็ว หรือถ้าเป็นสินค้าที่ต้องทำการผลิต ฝ่ายผลิตก็ทราบจำนวนที่จะต้องทำการผลิตได้เร็วกว่าเดิม ทั้งหมดนี้นำไปสู่การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ในการตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งในด้านการลดต้นทุนในการทำงานขององค์การ และการสร้างความแตกต่างของการบริการ เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าถึงประสิทธิภาพขององค์การในด้านการบริหารจัดการที่ดี