พิธีลงนาม MOU กับ BOT

การลงนามในบันทึกความตกลงร่วมตามแผนส่งเสริมการใช้มาตรฐานกลางข้อความ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในระดับผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย — พุธที่ 27 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามในบันทึกความตกลงร่วม (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนส่งเสริมการใช้มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทาง อิเล็กทรอนิกส์ระดับผู้ประกอบการ กับผู้แทนหน่วยงานนำร่องรวม 18 แห่ง ณ ธปท. เพื่อผลักดันให้มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Payment Message Standard: NPMS) มีการใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย ทดแทนข้อความการชำระเงินในปัจจุบันที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน และลดภาระของผู้ประกอบการ ภาครัฐและสถาบันการเงิน โดยใช้เพียงมาตรฐานข้อความเดียวกับผู้ให้บริการทุกราย กับบริการชำระเงิน 6 ประเภท ได้แก่ Direct Credit, Direct Debit, Check Outsourcing, ITMX Bulk Payment, BAHTNET และ International Payment

การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการแสดงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 7 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 2 แห่ง ผู้ประกอบการ 3 แห่ง หน่วยงานภาครัฐ 2 แห่ง และบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ระบบ ERP 4 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ธ.ทหารไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธ.ดอยซ์แบงก์ เอจี ธ.มิซูโฮ คอร์ปอเรต
บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บจ.ทรูมันนี่ บจ.ยูไนเต็ด แดรี่ฟูดส์ กรมศุลกากร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บจ.เอสเอพีฯ (ไทยแลนด์) บมจ.คริสตอลซอฟท์  , บมจ.เน็ตเบย์ และ บจ.เทรดสยาม

NPMS ได้จัดทำ ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2553 โดยได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีแผนส่งเสริมการใช้ในช่วงปี 2554-2555 โดยในปี 2554 เป็นการทดสอบการใช้งานกับหน่วยงานนำร่อง และในปี 2555 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องมีระบบรองรับมาตรฐานกลางดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอมาตรฐานกลางดังกล่าวกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของประเทศไทยต่อไป

“นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะผลักดันให้มาตรฐานกลางดังกล่าว มีการใช้แพร่หลายในกลุ่มประเทศ ASEAN เพื่อรองรับแผนการรวมตัวด้านการเงินภายใต้กรอบ ASEAN Economic Community 2015
ที่ผ่านมา การจัดทำร่าง National Payment Message Standard ดำเนินการภายใต้คำแนะนำของคณะทำงานตามแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2010 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และธนาคารแห่งประเทศไทย     โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ
1.  ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ และสามารถเชื่อมต่อกับระบบงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้
2.  เป็นมาตรฐานกลางข้อความแบบเปิด มีความเป็นกลางทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 20022
ส่วนหลักการสุดท้ายคือ  สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับที่ยอมรับได้ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”
  นางอัจนา ไวความดี กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม ทีมกลยุทธ์ 1 ฝ่ายระบบการชำระเงิน โทร. 0 2283 5036, 0 2283 5091

E-mail: ecorp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย