Tag Archives: SMEs

  • 0

นิติบุคคล SME ลดหย่อนอะไรได้บ้าง


Tags : 

นิติบุคคล หรือ SME ส่วนใหญ่อาจจะสงสัยว่าการทำธุรกิจในรูปแบบนี้สามารถทำการลดหย่อนภาษีได้ไหม หากได้จะเป็นการลดหย่อนจากอะไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่ารายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจ SME และ นิติบุคคลจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

ค่าใช้จ่ายในการทำบัญชี การจดทะเบียนบริษัท

ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้ทำการจดทะเบียนนิติบุคคล มีทุนในการจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้า และบริการในรอบบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการทำบัญชี การจดทะเบียนบริษัทมาเป็นค่าลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า ในระยะเวลา 5 รอบบัญชีต่อเนื่อง หรือในระยะเวลา 5 ปีภาษี

โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์

อีกหนึ่งนโยบายที่กรมสรรพากรออกมาสนับสนุนให้ธุรกิจ SME นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน คือการลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจ SME ที่ซื้อ หรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ DEPA ซึ่งมีอัตราการหักภาษี 1 เท่าของรายจ่ายตามจริง แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่สรรพากรได้กำหนดไว้ และมีวงเงินไม่เกิน 100,0000 บาท ในแต่ละรอบบัญชี

ค่าเสื่อม ค่าสึกหรอภายในกิจการ

การลดหย่อนค่าสึกหรอถือเป็นตัวแปรสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะค่าสึกหรอที่ถูกหักจะถือเป็นค่าใช้จ่าย ที่สามารถนำมาหักภาษีได้ แต่การลดหย่อนค่าสึกหรอก็ไม่สามารถทำได้กับสินทรัพย์ทุกประเภท เพราะสินทรัพย์ที่นำมาคิดได้มีดังนี้

– ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ ที่มีระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 5 ปี คิดค่าเสื่อมในอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ ทยอยหักได้ใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี

– ทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงาน มีระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 20 ปี โดยไม่รวมที่ดินที่มีราคาเกิน 200 ล้านบาท และคนงานไม่เกิน 200 คน คิดค่าเสื่อมที่อัตรา 25% ของต้นทุน โดยหัก 5% ต่อปี

– ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร ระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 5 ปี คิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ ทยอยหักภายในระยะเวลา 5 ปี

ลดหย่อนจากการบริจาค

สำหรับกิจการที่ชื่นชอบการบริจาค ผลบุญนี้ก็ส่งตรงถึงกิจการของคุณ เพราะคุณสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะทำการบริจาคให้กับองค์กร หรือกองทุนต่างๆ ดังต่อไปนี้

– การบริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าที่บริจาค แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย

– บริจาคให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล

– บริจาคให้กับกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค เมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย

ลดหย่อนจากค่าจ้างลูกจ้างสูงอายุ

กรมสรรพากรได้มีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยให้แก่บริษัทนิติบุคคล ที่ตรงตามเงื่อนไขการลดหย่อนจากการจ้างงานผู้สูงอายุที่กรมสรรพากรกำหนดไว้

ลดหย่อนจากการทำประกันชีวิต

การทำประกันชีวิตให้กับกรรมการบริษัท เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คุณสามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษี เพราะนี่เป็นการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่จะต้องไม่ใช่การใช้จ่ายแบบเสน่หา การคำนวณภาษีจะถูกนำไปใช้เพื่อจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


แม้ภาษีนิติบุคคลจะเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถลดเวลาการทำงานในส่วนการทำบัญชีหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วยระบบบัญชีสำเร็จรูป

Smartbizบัญชี-เงินเดือน-ผลิต

 


  • 0

มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย


Tags : 

มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย

1. กลุ่ม SMEs ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้

1.1 โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินค้ำประกัน สามารถค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPLs) ลูกหนี้ Re-finance ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

1.2 โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) โดยธนาคารออมสิน เตรียมวงเงิน 15,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 0.1 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยกู้ต่อ คิดดอกเบี้ยกับ SMEs ร้อยละ 4 ต่อปีระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ผู้ขอสินเชื่อให้รวมถึงธุรกิจ Supply Chain และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และสามารถให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รวมถึงเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างเดียวได้

1.3 โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity โดยธนาคารออมสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนปรนภาระ
การจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ลบร้อยละ 1 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.375 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

2. กลุ่ม SMEs ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที ผ่านโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 จะขยายระยะเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 ออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs โดยให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

3. กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

3.1 โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยให้ สสว. ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วด้วย

3.2 โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของ ธพว. วงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้ลูกหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วสามารถเข้าโครงการได้

3.3 โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี

3.4 โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อ
อีก 10,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียม
ค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี

3.5 โครงการ PGS 8 ของ บสย. สำหรับวงเงินค้ำประกันโครงการที่เหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี รวมถึงขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้อีกด้วย

3.6 โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกัน
ต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

4. มาตรการอื่น

4.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันไม่ให้เป็น NPLs และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

4.2 สมาคมธนาคารไทย ดึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดดอกเบี้ย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

4.3 มาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ
2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอน
หรือขายทรัพย์สิน การให้บริการ และการกระทำตราสาร เพื่อชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์
ที่จำนองเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน (เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ)
4) ยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
5) ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์
และห้องชุดจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย และความร่วมมือที่ดีจากสมาคมธนาคารไทยจะช่วยสนับสนุนและบรรเทาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อ SMEs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ต่อไป

Credit : www.smartsme.co.th


  • 0

9 ข้อภาษีที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ (เกี่ยวข้องกับระบบบัญชี)


Tags : 

9 ข้อภาษีที่ควรรู้ต่อไปนี้คือสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องจดจำ และอาจจะได้นำไปใช้จริงในการทำธุรกิจ

1. ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้คือภาษีที่เก็บจากเงินได้ สำหรับคนที่มีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถทำการเสียภาษีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งจะคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) และการเสียภาษีเงินได้แบบนิติบุคคล ซึ่งจะคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษี

2. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นภาษีที่จะเรียกเก็บจากสิ่งปลูกสร้างอย่างอาคาร ตึกแถว บ้าน ร้านค้า สำนักงาน โรงแรม ฯลฯ การเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินจะถูกเรียกเก็บในกรณีที่เกิดการให้เช่าทรัพย์สิน หรือให้ผู้เข้ามาอยู่อาศัย และในกรณีที่ใช้อสังหาริมทรัพย์ (ตึกแถว บ้าน) เป็นสถานประกอบการเชิงพาณิชย์

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เป็นภาษีที่จะเรียกเก็บกับธุรกิจธนาคาร หรือที่ประกอบกิจการคล้ายกับธนาคารพาณิชย์อย่าง ประกันชีวิต โรงรับจำนำ ตลอดจนถึงการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้า หรือการหากำไร

4. ภาษีอากรแสตมป์

ภาษีอากรแสตมป์เป็นภาษีที่มาในรูปแบบของดวงแสตมป์ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการ หรือหนังสือสัญญาอย่าง สัญญาการเช่าโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ เงินกู้ ฯลฯ

5. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

เป็นภาษีที่จะต้องถูกหักทันทีเมื่อมีรายได้จากการให้บริการ ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย คือคนที่ทำการจ่ายเงิน

6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีที่ถูกเก็บจากรายได้การขายสินค้า หรือการให้บริการ โดยมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

7. ภาษีสรรพสามิต

เป็นภาษีที่จะถูกเรียกเก็บจากสินค้าที่ผลิต หรือถูกนำเข้า ตลอดจนการบริการทางธุรกิจตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้อย่าง ภาษีน้ำมัน ภาษีน้ำหอม และภาษีรถยนต์

8. ภาษีศุลกากร

เป็นภาษีที่ถูกเรียกเก็บจากการที่นำสินค้า หรือสิ่งของเข้า ออกผ่านเขตแดนหนึ่ง ไปอีกเขตแดนอื่น โดยจะถูกเก็บตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

9. ภาษีป้าย

เป็นภาษีที่จะต้องเสียเมื่อทำการติดตั้งป้ายตามที่กฎหมายกำหนดอย่างป้ายบิลบอร์ด ป้ายผ้าใบ ป้ายไฟ หรือป้ายที่ใช้โฆษณาเพื่อหารายได้

เมื่อรู้จักกับ 9 ข้อภาษีที่ควรรู้กันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจที่ดีคือการเสียภาษีอย่างถูกต้อง หากธุรกิจคุณจำเป็นต้องเสียภาษีในข้อใด ก็ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ฟรีโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป Smartbiz Accounting https://www.crystalsoftwaregroup.com/download/free-download/

Credit : www.smemove.com


  • 0

4 ขั้นตอนต้องรู้ มีประวัติค้างชำระกู้อย่างไรให้ผ่าน


Tags : 

คำว่า “หนี้ที่มีปัญหา หรือหนี้ NPL” เป็นคำที่หลายๆ คนอาจไม่อยากได้ยิน ไม่คิดจะเป็น และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง หนี้ NPL คือ หนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินของคุณอย่างมาก หากคุณมีการค้างจ่ายหนี้หรือจ่ายไม่ตรงเวลา เพราะมันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า “สัญญาไม่เป็นสัญญา เป็นหนี้แล้วไม่ชำระหนี้” เรื่องแบบนี้นอกจากจะส่งผลต่อการขอกู้ในอนาคตแล้ว ยังทำให้โอกาสในการได้รับอนุมัติยากกว่าคนที่มีประวัติใสสะอาด แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เราลองมาดู 4 ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติเพื่อกู้ให้ผ่านกัน

1. หันหน้ามาคุยกัน เพื่อเจรจาแก้ไข เนื่องจากการค้างจ่ายหนี้หรือการชำระไม่ตรงเวลานั้น อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา เช่น เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โรงงานได้รับความเสียหาย ผลิตสินค้าไม่ทัน จึงสูญเสียรายได้ ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ตามกำหนด ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เจรจาหาทางออกร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของคุณ เพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้การเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะอาจช่วยกันแก้ปัญหาได้ก่อนที่คุณจะกลายเป็นหนี้ NPL หรือหากเป็นไปแล้ว ก็ยังสามารถเจรจากันได้ ที่มักเรียกกันว่าการประนอมหนี้ ได้แก่ การยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปด้วยการลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนลง การขายทรัพย์เพื่อชำระหนี้บางส่วน หรืออื่นๆ แล้วแต่กรณีไป

2. มุ่งมั่นแก้ไขปัญหา สะท้อนความตั้งใจ เพราะปัจจัยในการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารนั้นดูที่ความตั้งใจในการชำระหนี้เป็นหลัก หากคุณไม่ย่อท้อ พยายามทำทุกทางเพื่อให้การแก้ไขหนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือในการจ่ายหนี้ หรือการปฏิบัติตามเงื่อนไขการผ่อนชำระอย่างเคร่งครัด สิ่งนี้จะสะท้อนความตั้งใจในการแก้ปัญหาของคุณได้อย่างชัดเจน

3. สร้างประวัติใหม่ ผ่อนให้ตรงเวลา เนื่องจากประวัติการผิดนัดชำระหนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งคุณจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ใช่ว่าผ่อนเป็นปกติดีอยู่ 2-3 เดือนก็จะไปขอกู้ เพราะธนาคารยังไม่มั่นใจความสามารถในการชำระเงินของคุณ ดังนั้นคุณควรพยายามสร้างประวัติใหม่ให้ดีเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าฐานะทางการเงินของคุณกลับมาเป็นปกติแล้ว

4. เคลียร์หนี้ NPL ให้จบ เก็บหลักฐานอย่าให้หาย หากคุณสามารถเคลียร์หนี้ก้อนนี้ได้หมดแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะออกหลักฐานยืนยันมาให้ ซึ่งคุณจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี เพื่อใช้แสดงกับธนาคารที่คุณไปขอกู้ว่าคุณสามารถจบหนี้ที่มีปัญหาได้แล้วจริงๆ

สำหรับคนที่เป็นหนี้ที่มีปัญหา หรือเป็นหนี้ NPL ไปแล้ว การพิสูจน์ตัวเองนั้นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ในระหว่างนี้ธุรกิจของคุณต้องมีวินัยทางการเงินอย่างมาก อย่าละเลยการเดินบัญชีหรือ Statement เพราะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงกระแสเงินสดของธุรกิจ หรือแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ชำระหนี้ แต่ทางที่ดีก็คือพยายามอย่าให้เกิดปัญหาขึ้นมา การไม่มีประวัติหนี้ค้างชำระย่อมดีที่สุด และหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ให้รีบคุยกับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็น NPL

Credit : www.kasikornbank.com


  • 0

SMEs กู้เงินประเภทไหน กู้ง่ายที่สุด


Tags : 

คุณสมบัติ 3 ข้อนี้ที่ธนาคารจะพิจารณาจากตัวผู้กู้ก่อนจะทำการตรวจสอบเอกสารเป็นขั้นตอนถัดไป โดยการกู้นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ โดยความยากง่ายจะแตกต่างกันไป

  1. กู้ไปลงทุน
    เป็นการกู้เงินที่ธนาคารอยากให้ผ่านมากที่สุด เนื่องจากเป็นการเอาเงินไปขยายกิจการหรือรีโนเวทธุรกิจใหม่ เพื่อให้ได้กำไรที่มากขึ้น และยังสามารถสร้างสินทรัพย์ที่สามารถย้อนกลับมาเป็นผลกำไรได้อีกด้วย โดยการกู้เงินแน่นอนว่าเจ้าของกิจการต้องมี Statement หรือสินทรัพย์เพื่อเป็นการค้ำประกัน ธนาคารจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำกำไรจากธุรกิจที่เราเอาไปลงทุนว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

  2. เงินทุนหมุนเวียน
    การกู้ประเภทนี้เป็นธุรกิจในรูปแบบซื้อมาขายไป ใช้การจ่ายเงินเป็นรูปแบบเครดิตเพื่อหมุนเวียน เช่น ต้องใช้เงินทุนในการซื้อวัตถุดิบเพื่อเอามาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อขายซึ่งอาจจะไม่สามารถหมุนเงินได้ทันเวลา ดังนั้น การกู้แบบเงินหมุนเวียนต้องใช้เอกสารหรือสัญญาการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเรามีรายรับที่ชัดเจนที่สามารถจ่ายหนี้ได้ และเพื่อใช้ประเมินวงเงินที่ต้องการมากู้ธนาคาร

  3. รีไฟแนนซ์
    การชำระเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดด้วยเงินกู้ใหม่เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงหรือเพื่อให้ได้วงเงินกู้เพิ่มขึ้น เป็นการย้ายหนี้สินที่มีอยู่ ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีการสร้างธุรกิจ ไม่มีการเพิ่มรายได้ กรณีเช่นนี้ธนาคารมักไม่ค่อยอยากพิจารณา แม้จะเป็นเงินต้นก็ตาม ยกเว้นลูกค้าที่มีเครดิตดี สำหรับคนที่มีประวัติทางการเงินไม่ดี ผลประกอบการค่อนข้างแย่ ธนาคารจะให้ผ่านค่อนข้างยาก  ดังนั้น การสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ

ในการขอกู้เงินจากธนาคารเราต้องประเมินตัวเองให้ดีก่อนว่าเราต้องการเอาเงินไปทำอะไรและวงเงินการลงทุนที่เราสามารถจ่ายหนี้ได้ควรเป็นเท่าไรและควรยื่นกู้ประเภทไหน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดภาวะล้มละลายที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง

Credit : www.businesslinx.globallinker.com


  • 0

5 สัญญาณร้ายที่บอกว่าธุรกิจกำลังมีปัญหาการเงิน


Tags : 

สัญญาณอันตราย ที่บอกว่าธุรกิจกำลังมีปัญหาการเงิน

  1. กำไรเพิ่ม แต่เงินสดลด

การที่ธุรกิจมีกำไรเพิ่ม แต่เงินสดลด หมายความว่าธุรกิจไม่สามารถเปลี่ยนยอดขายหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เป็นกระแสเงินสดได้จริง เช่น ขายของได้แต่เก็บเงินลูกค้าไม่ได้ ลูกค้าจ่ายเงินล่าช้า เงินสดที่เข้ามาเอามาหมุนจ่ายหนี้ไม่ทัน เป็นต้น เกิดเป็นปัญหาสภาพคล่องฝืดเคือง และอาจนำไปสู่สภาวะล้มละลายได้ในที่สุด ถ้าเปิดดูงบกำไรขาดทุนแล้วพบว่ามีกำไรงาม ๆ อย่าเพิ่งรีบดีใจ อย่าลืมดูงบกระแสเงินสดคู่กันไปด้วย ถ้าพบว่าเงินสดไม่สัมพันธ์กับกำไร แปลว่าได้เวลาปรับกลยุทธ์เพิ่มสภาพคล่องโดยด่วน

  1. เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่าต้นทุนคงที่

ต้นทุนคงที่ คือค่าใช้จ่ายที่กิจการจำเป็นต้องจ่ายเป็นประจำ โดยไม่ขึ้นอยู่กับยอดขายหรือปริมาณการผลิต สามารถประเมินล่วงหน้าได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่าใช้ซอฟต์แวร์ ค่าจ้างพนักงานประจำ เป็นต้น ซึ่งธุรกิจที่มีความมั่นคง ควรมีเงินทุนหมุนเวียนที่ครอบคลุมต้นทุนหมุนเวียนเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าแม้จะมีเหตุให้รายได้สะดุด ก็จะมีเงินพอจ่ายหนี้เมื่อถึงเวลา

  1. ไม่แยกเงินส่วนตัวออกจากเงินกิจการ

การที่เจ้าของถอนเอาเงินจากกิจการไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยไม่ได้ลงบัญชีเป็นต้นทุนเงินเดือนของตัวเองให้เป็นกิจจะลักษณะ อาจทำให้เกิดต้นทุนที่มองไม่เห็น คำนวณต้นทุนได้น้อยกว่าความเป็นจริง และอาจทำให้ขาดทุนโดยไม่รู้ตัวได้ ธุรกิจ SME ก็มีหลายรายที่ต้องปิดตัวลงเพราะสาเหตุนี้

  1. เอาเงินจากสินเชื่อระยะสั้น ไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว

การกู้สินเชื่อระยะสั้น เช่น รูดบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อหมุนเวียน แล้วเอาเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนช้า เช่น โรงงาน อสังหาริมทรัพย์ ผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้าที่ระยะเครดิตเทอมยาวนาน ฯลฯ เหล่านี้อาจทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องได้ง่าย เพราะผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุนไป ไม่ทันเวลาเอามาจ่ายหนี้ อาจทำให้ถึงล้มละลายได้

  1. ระบบบัญชีหละหลวม ไม่เป็นปัจจุบัน

ธุรกิจที่ทำบัญชีไม่รัดกุม หรือไม่ได้มาตรฐาน จะเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงได้ง่าย หรืออาจทำให้ข้อมูลในบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง ประเมินสถานการณ์ผิด จนตัดสินใจพลาดได้ มีผลกับสุขภาพการเงินของธุรกิจในระยะยาว ทางที่ดีควรใช้ระบบบัญชีที่มีมาตรฐานรับรอง ดำเนินการโดยมืออาชีพ และใช้บริการที่ปรึกษาเมื่อถึงคราวจำเป็น

Credit : www.powersmethai.com


  • 0

3 ความเข้าใจผิดเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้


Tags : 

3 ความเข้าใจผิดเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล

1. ยิ่งกำไรน้อย ยิ่งเสียภาษีน้อย

ความเข้าใจผิดแรกนั้น เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ธุรกิจที่ยิ่งกำไรน้อยเท่าไร ก็ยิ่งเสียภาษีน้อยเท่านั้น เอ๊า!! ถ้าแบบนี้เราก็ทำให้ “ธุรกิจขาดทุน” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งคำพูดก็ถือว่าเป็นคำพูดที่ถูกครึ่งหนึ่งครับ แต่เราต้องไม่ลืมเงื่อนไขที่ว่า ขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเป็น ขาดทุนทางภาษี ไม่ใช่ ขาดทุนทางบัญชี เพราะธุรกิจต้องมีการปรับปรุงรายการกำไร (ขาดทุน) ทางบัญชีให้กลายเป็นกำไร (ขาดทุน) ทางภาษีเสียก่อน แล้วค่อยคำนวณโดยการคูณอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนดครับ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีการขาดทุนทางบัญชี 1 ล้านบาท แต่พบว่ามีค่าใช้จ่ายจำนวน 2 ล้านบาทที่ไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่าย และเป็นรายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของธุรกิจ ซึ่งรายจ่ายในส่วนนี้จะไม่สามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ก็เลยกลายเป็นว่า ขาดทุนทางบัญชีจำนวน 1 ล้านบาทก็จะถูกบวกกลับเข้าไปด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าว ทำให้บริษัทมีกำไรทางภาษี จำนวน 1 ล้านบาทแทน

2. จดทะเบียนเป็น SMEs ได้ลดอัตราภาษีแน่ๆ

เรื่องต่อมาก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ กับคำว่า “SMEs ได้รับสิทธิลดอัตราภาษี” โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ คือ “เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท” หรือพูดสั้นๆ ก็คือสำหรับธุรกิจที่มี “ทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี”

 

3. ภาษีครึ่งปี พี่ต้องจ่ายด้วยหรอ?

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่คำนวณภาษีจากกำไรสุทธิทางภาษีนั้น นอกจากยื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับรอบบัญชีแล้ว (ภ.ง.ด. 50) ยังมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบบัญชีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ภายใน 2 เดือนหลังจากวันครึ่งรอบบัญชี เช่น ถ้ารอบบัญชีของบริษัทคือวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม วันครึ่งรอบบัญชีคือวันที่ 30 มิถุนายน โดยต้องยื่นภาษีครึ่งปีให้ทันกำหนดเวลาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมของทุกปี มิฉะนั้นจะมีปัญหาทั้งค่าปรับ (สูงสุด 2,000 บาท) และเงินเพิ่ม (คิดจากภาษี) ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการประมาณกำไรสุทธิครึ่งปีขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจริง โดยไม่มีเหตุอันสมควร อาจจะทำให้ธุรกิจของเราต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีอีกด้วยครับ

 

Credit : www.krungsri.com


  • 0

ภาษีขายของออนไลน์ที่ควรรู้


Tags : 

รู้จักกับภาษีออนไลน์

การจ่ายภาษีคือหน้าที่ของประชาชนทุกคนทุกประเทศ ทว่าในปัจจุบันหลายคนยังเข้าใจว่าหากเราทำการขายของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ซึ่งคงต้องอธิบายชัดเจนตรงนี้เลยว่าอย่างไรก็ต้องเสียในรูปแบบของภาษีเงินได้

ภาษีของการขายของออนไลน์นับเป็นภาษีเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งจะมีการแบ่งการคำนวณเป็นสองประเภท คือ

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าธรรมดา
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล : กรณีที่ร้านค้านั้นๆ มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท

โดยการคิดอัตราภาษีนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกับการจ่ายภาษีตามปกติ คือคิดตามอัตราขั้นบันไดตามกฏหมายกำหนด และมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้ดังนี้

  1. หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% ของเงินได้ สำหรับร้านที่ดำเนินการแบบซื้อมา ขายไป ไม่มีการผลิตภายในร้าน
  2. หักตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับบ้านที่มีการผลิตภายในร้าน
  3. หักแบบเหมา กรณีที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เกิน 1,000,000 บาท โดยคิดภาษีเป็น 0.5% ของเงินได้

ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถคิดภาษีด้วยตัวเองได้ หรือใช้โปรแกรมในการคำนวณได้ ด้วยสูตร (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) และแน่นอนว่าหากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

ข้อควรรู้ของภาษีออนไลน์

ทางสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการขายของออนไลน์เกิดขึ้น ในปัจจุบันมีกฎหมายออกมารองรับทำให้ทางสถาบันการเงินต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า (e-Payment) ให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ แต่ไม่ได้ตรวจสอบทุกบัญชี ลองมาดูเงื่อนไขกันว่าสรรพากรจะตรวจสอบอย่างไร

  • เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดรวมทั้งหมดจะกี่บาทก็ตาม
  • ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันเกิน 2 ล้านบาท

ในส่วนนี้ขอขยายความว่า หากเป็นผู้ชื่นชอบในการซื้อของออนไลน์ การโอน ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ สิ่งสำคัญที่ทางสรรพากรสนใจคือ การรับโอน ต่างหาก ดังนั้นบรรดาขาช็อปทั้งหลายสามารถสบายใจกับกฎหมายนี้ได้

ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้

  • เลขประจำตัวประชาชน
  • ชื่อ สกุล
  • เลขบัญชีเงินฝาก
  • จำนวนครั้งของการฝากหรือโอน
  • ยอดรวมจากการฝากหรือโอน

ซึ่งสรรพากรจะไม่เพียงตรวจสอบผู้ที่เป็นร้านค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่มีการโอนเงินมากผิดปกติจนน่าสงสัยอีกด้วย

Credit : www.ngerntidlor.com


  • 0

3 ปัญหาที่เกิดจาก SMEs วางแผนบัญชีผิด


Tags : 

สาเหตุหลักๆ ที่สร้างปัญหาทางการเงินให้ SMEs ส่วนใหญ่ เป็นอะไรได้บ้าง และเราจะรับมือกับมันได้อย่างไร…

1. ไม่ทราบสถานการณ์ทางธุรกิจที่แท้จริง

ในยุคที่ธุรกิจกำลังขยายตัว หลายท่านที่เป็นเจ้าของกิจการ โดยไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ จนเกิดปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบ คือ การทำบัญชีเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ทำให้บางครั้งตัวเลขตกหล่น และทำการตรวจสอบได้ยาก

แก้ปัญหาในพริบตา…บัญชีเดียวช่วยได้ : การวางแผนทำบัญชีที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก มีหลายบัญชีจนเกิดความสับสน ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเราควรวางแผนการทำบัญชีให้ถูกต้อง และยื่นงบต่อกรมสรรพากรให้ถูกต้อง จะช่วยแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงได้มาก

2. หุ้นส่วนเกิดความขัดแย้งในองค์กร

ปัญหาที่เกิดจากการที่ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดด้านการเงิน การไม่สามารถชี้แจงกำไร หรือรายได้ที่แน่นอนให้กับทุกๆ คนได้เข้าใจตรงกัน จะนำมาสู่ความคลางแคลงใจในที่สุด

แก้ปัญหาในพริบตา…บัญชีเดียวช่วยได้ : ความขัดแย้งภายในองค์กรส่วนมากมักเกิดจากปัญหาเรื่องเงินเป็นหลัก ยิ่งธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้จัดทำเพื่อหลบเลี่ยงภาษีแล้ว จะสร้างความวุ่นวายอย่างมาก เพราะการสรุปงบกำไร ไปจนกระทั่งรายได้ที่ส่งต่อให้ผู้ถือหุ้นทุกราย อาจถูกตั้งข้อสงสัย การทำบัญชีเดียว จะช่วยให้เห็นภาพรวมเงินเข้า-ออกได้ชัดเจน และเข้าใจตรงกัน

3. เงินทุนไม่เพียงพอ

การวางโครงสร้างกลยุทธ์ในการทำธุรกิจอย่างเดียวนั้นไม่พอ คุณต้องพร้อมมีเงินทุนเพื่อใช้ลงทุนแล้วยังต้องมีไว้หมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งบางครั้งวงเงินของผู้ถือหุ้นอาจไม่เพียงพอกับความต้องการขยายธุรกิจ

แก้ปัญหาในพริบตา…บัญชีเดียวช่วยได้ : ธนาคารกรุงไทยแก้ปัญหาเพื่อธุรกิจ SMEs ที่ต้องการวงเงินใช้จ่ายในธุรกิจ ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กับผู้ที่จดแจ้งบัญชีเดียวต่อกรมสรรพากร และใช้งบสรรพากรในการขอสินเชื่อ ส่งผลให้อนุมัติสินเชื่อได้ไวยิ่งขึ้นอีกด้วย

และนี่คือ 3 วิธีแก้ไขปัญหาหลัก ๆ ในการป้องกันปัญหาทางการเงินของธุรกิจ SMEs ถ้าคุณจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องและจดแจ้งบัญชีเดียวต่อกรมสรรพากร ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปในทันที อีกทั้งยังยังช่วยทำให้ธุรกิจของคุณบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด และเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อธนาคารได้มากขึ้น

Credit : www.sme.ktb.co.th


  • 0

การทำบัญชี SMEs กับเทคนิคการวิเคราะห์งบการเงิน สำหรับเจ้าของกิจการ


Tags : 

เมื่อมีการทำบัญชี และจะปิดบัญชีประจำปี ควรมีหลักและเทคนิคในการวิเคราะห์งบการเงิน ของกิจการของท่านดังนี้

1.การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) เป็นการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบปีต่อปี หรือ เดือนต่อเดือน ซึ่งจะบอกถึง

1.1 การเปลี่ยนแปลงของรายการต่างๆในงบโดยเปรียบเทียบเป็นปีต่อปี หรือเดือนต่อเดือน

1.2 ทำให้ทราบว่ามีรายการใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นจำนวนเงินและเปอร์เซ็นต์รายการละเท่าใด

1.3 สามารถหรือคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มแต่ละรายการในงบว่ารายใดดีขึ้นหรือแย่ลง

1.4 จากข้อมูลทั้งหมดจะทำให้ท่านสามารถคาดการณ์ธุรกิจของท่านในอนาคตได้

2.การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical analysis) การวิเคราะห์จะจะนำงบการเงินมาเปรียบเทียบปีต่อปี

2.1 ในส่วนงบกำไรขาดทุน เช่นต้นทุนขายหรือบริการ  ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน เท่าใด ในปีหนึ่งปีใดเปรียบเทียบกับร้อยละ ของยอดขายปี ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ต้นทุนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ต่อยอดขาย หรือค่าใช้จ่ายบริหารรายการใดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อยอดขาย

2.2 หากพบว่ามีรายการค่าใช้จ่ายใดที่สูงกว่าปีก่อน ก็จะหาวิธีการเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ทันท่วงที

3.การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend analysis)เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี ของรายการต่างในงบกำไรขาดทุน หรืองบแสดงฐานะการเงิน เช่น

3.1 ใช้ดูแนวโน้มของกิจการว่ายอดขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่ายบริหาร ดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีก่อน  เป็นต้น

3.2 เพื่อนำนำข้อมูลไปใช้ในการพยากรณ์ในอนาคต หรือการทำประมารการของกิจการต่อไป

4.การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio analysis) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในงบการเงินเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างรายการหนึ่งกับรายการหนึ่ง ว่าเหมาะสมเพียงใด อัตราส่วนทางการเงินแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

4.1 อัตราส่วนวัดสภาพคล่องทางการเงิน

4.2 อัตราส่วนในการวัดความสามารถในการทำ

4.3 อัตราส่วนในการวัดความสามารถ(ประสิทธิภาพ)ในการดำเนินงาน

4.4 การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนหรือภาระหนี้สิน

ดังนั้นเมื่อท่านได้ทำตามขั้นตอนต่างๆ แล้วอย่างชำนาญ และใช้อย่างต่อเนื่องธุรกิจของท่านจะลดความเสี่ยงต่างๆ เพราะท่านได้ทราบแนวโน้มปัญหา และอุปสรรคล่วงหน้า

ERP product

 

 

Credit : www.myaccount-cloud.com