สรุปแนวความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีอากร

  • 0

สรุปแนวความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีอากร


Tags : 
  1. ความหมายของภาษีอากร

ความหมายของภาษีอากรอาจแบ่งเป็น 2 แนว

แนวที่หนึ่ง อธิบายว่า ภาษีอากรคือสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร และนำไปใช้  เพื่อประโยชน์ส่วนรวม  โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร

แนวที่สอง อธิบายว่า ภาษีอากรคือเงินได้หรือทรัพยากรที่เคลื่อนย้ายจากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐบาล  แต่ไม่รวมถึงการกู้ยืมหรือขายสินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล

  1. วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีอากร

การเก็บภาษีอากร นอกจากมีวัตถุประสงค์ในการหารายได้เพื่อให้พอกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาลแล้ว ในปัจจุบันภาษีอากรยังเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการกระจายรายได้  ส่งเสริมความเจริญเติบโตธุรกิจการค้า  รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ช่วยควบคุมการบริโภคของประชาชน  หรือเพื่อสนองนโยบายบางประการของรัฐบาล  (เช่น  การศึกษา  การสวัสดิการสังคม  นโยบายประชากร)  ด้วย

  1.    ลักษณะของภาษีอากรที่ดี

รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักมีบัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมายบัญญัติในการบัญญัติกฎหมายภาษีอากรที่ดีนั้น  มีหลักการบ่งประการที่ควรคำนึงถึง  เพื่อประชาชนมีความสมัครใจในการเสียภาษีอากรและให้กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ภาษีอากรที่ดีมีลักษณะดังนี้

        3.1   มีความเป็นธรรม ประชาชนควรมีหน้าที่เสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาล โดยพิจารณาถึงความสามารถในการเสียภาษีอากรของประชาชนแต่ละคนประกอบกับการพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนแต่ละคนได้รับเนื่องจากการดูแลคุ้มครองของรัฐบาล

        3.2    มีความแน่นอนและชัดเจน ประชาชนสามารถเข้าใจความหมายได้โดยง่าย และเป็นการป้องกัน มิให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

        3.3   มีความสะดวก วิธีการกำหนดเวลาในการเสียภาษีอากรควรต้องคำนึงถึง ความสะดวกของผู้เสียภาษีอากร

        3.4    มีประสิทธิภาพ ประหยัดรายจ่ายผู้จัดเก็บและผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรทำให้จัดเก็บภาษีอากรได้มากโดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บน้อยที่สุด

        3.5   มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ พยายามไม่ให้การเก็บภาษีอากรมีผลกระทบ ต่อการทำงานของกลไกตลาด หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด

        3.6   มีความยืดหยุ่น สามารถปรับปรุงเพิ่มหรือลดจำนวนภาษีอากรให้เหมาะกันสถานการณ์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 

  1.  โครงสร้างของกฎหมายภาษีอากร

กฎหมายภาษีอากรทุกฉบับ มีหัวข้อสำคัญอันเป็นโครงสร้างของกฎหมายฉบับนั้นๆ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น  6 หัวข้อด้วยกัน  คือ

        4.1   ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือผู้อยู่ในข่ายเสียภาษีอากร จะเป็นใครบ้างย่อมแล้วแต่กฎหมายนั้นๆ จะกำหนด แต่โดยทั่วไปมักได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

        4.2  ฐานภาษีอากร  ในความหมายอย่างกว้าง  หมายถึงสิ่งที่เป็นมูลเหตุให้ต้องเสียภาษีอากร  เช่น การมีรายได้  การมีทรัพย์สิน  หรือการใช้จ่าย  เป็นต้น  ในความหมายอย่างแคบ   หมายถึง  สิ่งที่รองรับอัตราภาษีอากร  (ภาษีอากรที่ต้องเสีย =  ฐานภาษีอากร  ×  อัตราภาษีอากร)

        4.3  อัตราภาษีอากร  แบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ๆ  คือ  แบบคงที่  แบบก้าวหน้า แบบถดถอย  ทั้งนี้โดยการพิจารณาว่าอัตราภาษีอากรมีการเปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ  ถ้าจำนวนของฐานภาษีอากรเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง  แต่อัตราภาษีอากรยังคงเท่าเดิม เรียกอัตราภาษีอากรลักษณะนี้เรียกว่าอัตราภาษีอากรแบบคงที่ เช่น อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบันและ  อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม  แต่ถ้าฐานภาษีอากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นและอัตราภาษีอากรก็เพิ่มขึ้นด้วย  เรียกอัตราภาษีอากรลักษณะนี้ว่าอัตราภาษีอากรแบบก้าวหน้า  เช่น  อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  และถ้าฐานภาษีอากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่อัตราภาษีอากรกลับลดลง เรียกอัตราภาษีอากรลักษณะนี้ว่าอัตราภาษีอากรแบบถดถอย  เช่น  อัตราภาษีบำรุงท้องที่

        4.4  การประเมินจัดเก็บภาษีอากร ภาษีอากรส่วนใหญ่ในปัจจุบันผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรเป็นผู้ดำเนินการประเมินตนเอง โดยประเมินหรือคำนวณตามวิธีการและตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีอากรตามจำนวนที่พึงต้องชำระ  ถ้าผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรไม่ดำเนินการประเมินตนเองหรือประเมินตนเองอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่สมบรูณ์ก็จะมีการประเมินโดยเจ้าพนักงานซึ่งในกรณีหลังนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินให้ผู้เสียภาษีอากรต้องรับผิดชำระเงินเพิ่ม และหรือเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นนอกเหนือจาก ภาษีอากรที่ต้องเสียในบางกรณีแม้ไม่ถึงกำหนดเวลาชำระภาษีอากร  เจ้าพนักงานประเมินก็อาจดำเนินการประเมินล่วงหน้าให้ผู้เสียภาษีอากรต้องชำระภาษีอากรก่อนถึงกำหนดเวลาได้  นอกจากนี้ในหลายๆ กรณีกฎหมายยังกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ภาษีเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีจากจำนวนเงินที่จ่ายแล้วนำส่งต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลา  ดังที่เรียกว่าการหักภาษี  ณ  ที่จ่าย ภาษีที่ถูกหักไว้นี้มักถือเป็นเครดิตของผู้มีหน้าที่เสียภาษี  ซึ่งสามารถนำไปหักออกจากภาษีที่ต้องเสียเมื่อถึงกำหนดเวลาหรืออาจได้รับคืนถ้าถูกหักไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสีย  อนึ่งเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบไต่สวนประเมินภาษีอากรและป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากร กฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้ที่กฎหมายกำหนดต้องปฏิบัติหน้าที่บางประการ เช่น  การจดทะเบียน  การมีและการใช้เลขประจำตัว  การจัดทำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานบางอย่าง  รวมทั้งให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจค้น  ยืด  หรืออายัดหลักฐานต่างๆ ในบางกรณีด้วย

         4.5  การอุทธรณ์ภาษีอากร  ในกรณีเกิดปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขัดแย้งพิพาทกันระหว่างผู้เสียภาษีอากรและผู้จัดเก็บภาษีอากร  เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียหรืออำนาจการประเมินเรียกเก็บภาษีอากร  และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่  กฎหมายมักกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีหาข้อยุติให้ครบถ้วนเสียก่อน  มิฉะนั้นผู้เสียสิทธิในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้  ตัวอย่าง เช่น  การประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม  ภาษีธุรกิจเฉพาะ  หรืออากรแสตมป์นั้น  ถ้าผู้เสียภาษีอากรไม่เห็นด้วยกับ การประเมินเรียกเก็บ  ก็จะต้องอุทธรณ์  การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เสียก่อนภายใน  30  วันนับตั้งแต่วันได้รับแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีอากร  จะนำคดีขึ้นสู่ศาลทันทีไม่ได้

        4.6   เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษ ผู้ไม่ชำระภาษีอากรจะต้องรับผิดชอบในจำนวนภาษีอากรที่ไม่ชำระพร้อมด้วยเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินเพิ่มขึ้นต่างหาก ถ้าฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ กฎหมายมักให้อำนาจเจ้าพนักงานดำเนินการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินไปชำระภาษีอากรค้างโดยไม่ต้องฟ้องคดีศาล นอกจากนี้ยังอาจต้องรับโทษทางอาญาอีกโสดหนึ่ง เช่น เสียค่าปรับและหรือต้องระวางโทษจำคุกอีกด้วย

  1.  การจำแนกประเภทภาษีอากร

ภาษีอากรซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลนั้น  จำแนกได้หลายประเภท  กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการจัดเก็บภาษีอากรก็มีหลายฉบับ  และมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการจัดการเก็บภาษีอากรประเภทต่างๆ  เหล่านี้

การจำแนกเยอะแยะ  ภาษีอากรประเภทต่างๆ เพื่อจัดให้เป็นหมวดหมู่นั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ จากลักษณะการรับภาษีอากร

การจำแนกประเภทภาษีอากร  โดยพิจารณาจากลักษณะการรับภาระภาษีอากรนี้ แบ่งภาษีอากรออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

        ประเภทที่หนึ่ง  ภาษีทางตรง  ได้แก่  ภาษีที่ชำระภาษีตกแก่บุคคลที่กฎหมายประสงค์จะให้รับภาระ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งผู้เสียภาษีผลักภาระภาษีไปให้ผู้อื่นได้ยาก  เช่น  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ภาษีเงินได้นิติบุคคล

        ประเภทที่สอง  ภาษีทางอ้อม  ได้แก่  ภาษีภาระภาษีไม่แน่ว่าจะตกแก่บุคคลที่กฎหมายประสงค์จะให้รับภาระหรือไม่  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  ผู้เสียภาษีผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ง่าย  เช่น  ภาษีมูลค่าเพิ่ม  ภาษีธุรกิจเฉพาะ  ภาษีศุลกากร  ภาษีสรรพสามิต

  1.  ประมวลรัษฎากร

ประมวลรัษฎากร เป็นชื่อของกฎหมายภาษีอากรฉบับหนึ่ง มีผลใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร  พ.ศ. 2481กฎหมายฉบับนี้เดิมเป็นที่รวมกฎหมายภาษีอากรสำคัญหลายประเภท แต่ปัจจุบันเป็นที่รวมของกฎหมายภาษีอากรเพียง  4 ประเภทด้วยกัน คือ

ประเภทที่ หนึ่ง ภาษีเงินได้ แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีนั้นจัดเป็นภาษีทางตรงประเภทหนึ่ง

ประเภทที่สอง  ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ประเภทที่สาม  ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นระบบภาษีใหม่ที่นำมาบังคับใช้แทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  พ.ศ. 2535 ภาษีเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากฐานการใช้จ่ายบริโภคอุปโภคทั่วไปทั้งสิ้น

ประเภทที่สี่ อากรแสตมป์  จัดเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่ง

ภาษีอากรทั้ง 4 ประเภทซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไปนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่และ การควบคุมของกรมสรรพากร  อนึ่งการอ้างถึงเลขมาตราต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้  ล้วนหมายถึงเลขมาตราในประมวลรัษฎากร  ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

Credit : www.sheetchulathai.com


Leave a Reply